‘ตับ’ เป็นอวัยวะที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ที่สุดในช่องท้องของมนุษย์ อยู่บริเวณใต้ชายโครงด้านขวา หน้าที่หลักของตับ คือ ช่วยสร้างน้ำดีเพื่อย่อยอาหาร สร้างสารที่เป็นส่วนประกอบของโปรตีน มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบเผาผลาญของร่างกาย (Metabolism) อีกทั้งยังช่วยกำจัดพิษอีกด้วย
หากตับเกิดการอักเสบขึ้นมา เซลล์ของตับจะถูกทำลายและส่งผลต่อการทำหน้าที่ต่าง ๆ ของตับ ทำให้เราไม่มีแรง และเกิดอาการเจ็บป่วยตามมาในที่สุด
ตับอักเสบ คือ ภาวะการอักเสบของตับซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ยา แอลกอฮอล์ และสารเคมี เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน ไวรัสตับอักเสบ เกิดจากเชื้อไวรัส (Viral Hepatitis) หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ไวรัสตับอักเสบ A, B, C, D, E และไวรัสชนิดอื่น ๆ แต่ที่พบได้บ่อยในบ้านเรา คือ ไวรัสตับอักเสบ B และ C ชนิดเรื้อรัง ไวรัสตับอักเสบเป็นเชื้อไวรัสที่มีการติดเชื้อในคนมากที่สุด อาจเคยติดเชื้อไวรัส B ช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต นั่นหมายถึง ประชากรโลกทุก 1 คนใน 3 คน เคยติดเชื้อ และที่สำคัญ ประชากรประมาณ 350 ถึง 400 ล้านคนติดเชื้อแบบเรื้อรัง อีกทั้งตัวไวรัสเองยังสามารถก่อให้เกิดมะเร็งตับได้โดยไม่ต้องมีตับแข็ง ทั้งนี้ โอกาสจะน้อยกว่าผู้ป่วยที่มีตับแข็งแล้ว
ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้อย่างไร
- การทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ (HAV)
- สัมผัสกับผู้ป่วย (HAV)
- สัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งของผู้ป่วย (HBV)
- การติดจากแม่สู่ลูกในขณะคลอด (HBV)
- ทางเพศสัมพันธ์ (HBV, HCV)
- การใช้เข็มฉีดยา (HCV)
- การบริจาคอวัยวะ (HCV)
ตับอักเสบแต่ละระยะแสดงอาการอย่างไร
- ตับอักเสบเฉียบพลัน : อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน จุกแน่นชายโครงขวา ปัสสาวะเข้ม ตาเหลือง
- ตับอักเสบเรื้อรัง : ไม่มีอาการ มักตรวจพบจากการตรวจร่างกายประจำปี ซึ่งมีการทำงานของตับผิดปกติ
- ตับแข็ง : จะมีอาการผอม ผิวแห้ง ผมบาง มีลักษณะขาดสารอาหาร ระยะยาวอาจเป็นมะเร็งตับได้
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นไวรัสตับอักเสบ
ตรวจเลือด หาเชื้อ และภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส
การป้องกันและการรักษา
- ตรวจการทำงานของตับทุก 6 เดือน หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ดูแลสุขอนามัยให้ดี
- ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบก่อนการบริจาคเลือด
- ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- ฉีดวัคซีน / ฉีดยา / กินยาต้านไวรัส
ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
- ตรวจหาภูมิไวรัสตับอักเสบชนิด เอ (Anti HAV igG)
- ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ B (Hepatitis B surface Antigen)
- ตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบ B (Anti HBs)
- ตรวจหาว่าเคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ C (Anti HCV)
แหล่งที่มา
- ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ (http://www.bangkokhealth.com)
- บทความสุขภาพ แผนกทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลสมิติเวช (https://www.samitivejhospitals.com)